ดูแลลูกวัย 0-1 ปี ช่วงหน้าหนาว

ช่วยลูกห่างไกลความเจ็บป่วยช่วงฤดูหนาว ด้วยวิธีการดูแลลูกทารกวัย 0-1 ปี อย่างถูกต้อง

การดูแลเด็กวัย 0-1 ปี, การดูแลเด็กวัย 0-1 ปีช่วงหน้าหนาว, ฤดูนาว, ลูกแลลูกแรกเกิดหน้าหนาว, โลชั่น, ครีม, เบบี้ออยล์, อาหารเสริม, ซุป, ของใช้เด็ก, ภูมิคุ้มกัน, ภูมิแพ้, ผิวแห้งหน้านาว, เบบี้ออยล์, ยาลดไข้, ยาลดน้ำมูก, วิตามินซี, ครีมบำรุงผิว


อากาศที่เย็นและแห้งในช่วงหน้าหนาว ทำให้เชื้อโรคหลายชนิดแพร่กระจายได้ดี ลูกเล็กวัย 0-1 ปี จึงมีโอกาสป่วยได้ง่าย หากลูกเป็นภูมิแพ้อยู่แล้ว ก็จะถูกกระตุ้นให้เป็นมากขึ้นได้ โดยเฉพาะอากาศบ้านเราที่แปรปรวน ตอนเช้าหนาว กลางวันกลับร้อนอบอ้าว ยิ่งต้องดูแลเป็นพิเศษ


1. ร่างกายลูกต้องอุ่นไว้ก่อน
- ป้องกันผิวบอบบางของลูกสัมผัสกับอากาศหนาวเย็น เวลานอนจึงควรห่มผ้าห่มที่หนานุ่ม แต่ไม่หนักจนเกินไป เพราะอาจทำให้ลูกอึดอัดไม่สบายตัวได้ และควรเลือกชนิดที่ถอดซักได้ เนื้อผ้าด้านนอกทำจากผ้าฝ้าย ด้านในเป็นใยสังเคราะห์ จะช่วยให้ลูกนอนหลับสบายตลอดคืน

- สวมเสื้อผ้าหนาๆ ให้คลายหนาว สร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกายเด็กได้ โดยเฉพาะลูกทารกควรเลือกเสื้อแขนยาว กางเกงขายาวที่เป็นผ้าเนื้อนุ่มอย่างผ้าสำลี หรือเสื้อกันหนาวผ้าฝ้ายแล้ว หากอากาศหนาวมากๆ ก็ควรเตรียมหมวกไหมพรม ถุงมือ ถุงเท้าที่เป็นแบบผ้ายืดที่อ่อนนุ่ม ไม่รัดแน่นเกินไป

2. ไม่ปล่อยให้ผิวลูกแห้งและคัน
- อาบน้ำอุ่นวันละ 1 ครั้งก็พอ เพราะการควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกายของลูกยังทำงานไม่เต็มที่ อาจผสมเบบี้ออยล์ลงไปในน้ำที่ใช้อาบเล็กน้อย หรือใช้เฉพาะผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก และพยายามเช็ด ถู ทำความสะอาดผิวของลูกขณะอาบน้ำอย่างเบามือที่สุด

- ทาครีมให้ผิวชุ่มชื่น อากาศแห้ง ผิวลูกจะสูญเสียความชุ่มชื่นได้ง่ายและรวดเร็วกว่าผิวของผู้ใหญ่ จึงไม่ควรพาลูกออกไปสัมผัสลมหนาวนอกบ้าน เพราะจะทำให้ผิวแห้งยิ่งขึ้น และถ้าปล่อยให้ผิวแห้ง แตก ลูกจะรู้สึกคันยุบยิบ และเกาจนทำให้ผิวอักเสบได้

หลังอาบน้ำให้ใช้โลชั่นหรือครีมบํารุงผิวเด็กทาผิวลูกทันที โดยบีบใส่มือแล้วลูบให้เนื้อครีมกระจาย ทาให้ทั่วแขน ขา และลำตัวของลูก เพื่อให้เนื้อครีมซึมซาบเข้าสู่ผิว รูขุมขนก็จะถูกเคลือบปิดทำให้ผิวคงความชุ่มชื่นได้ดี

3. กินดีสุขภาพลูกก็ดี
- กินอาหารที่มีประโยชน์ นอกจากอาหารเสริมที่ให้ตั้งแต่ 4 เดือนแล้ว เมื่อลูกครบ 6 เดือน สามารถเลือกเมนูอาหารหลักที่ให้คุณค่าทางอาหารให้ลูกได้ เช่น ซุปฟักทองกับแครอต ที่มีวิตามินซี เอ และเบต้าแคโรทีนสูง ป้องกันหวัดได้ดี หรือเลือกให้ลูกกินเนื้อสัตว์ในโจ๊กไก่และปลาซึ่งอุดมไปด้วยโปรตีน เป็นต้น

การใส่ใจเรื่องโภชนาการของลูก ก็เป็นส่วนสำคัญในการลดโอกาสการป่วยเป็นโรคต่างๆ และยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่สมบูรณ์ให้แก่เจ้าตัวเล็กด้วยค่ะ

- หมั่นให้ลูกจิบน้ำอุ่นบ่อยๆ เพราะร่างกายต้องการความอบอุ่นและน้ำ เพื่อปรับสมดุลจากอากาศที่หนาวเย็นและแห้ง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากกว่าปกติ การจิบน้ำอุ่นบ่อยๆ จะช่วยให้ลูกสามารถปรับตัวสู้กับอากาศภายนอกได้ ป้องกันไม่ให้ลูกเจ็บป่วย หรือไม่สบายได้ง่ายนั่นเองค่ะ



ของใช้ของลูกก็ต้องใส่ใจ

อุปกรณ์หรือข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวของลูก จะต้องดูแลเรื่องความสะอาดเสมอ เพื่อลดการติดเชื้อที่อาจติดต่อกันได้ผ่านของใช้ส่วนตัวและภาชนะต่างๆ เพราะภูมิต้านทานของลูกยังไม่สมบูรณ์เท่าผู้ใหญ่ ที่สำคัญควรเตรียมยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก หรือยาแก้ภูมิแพ้เผื่อไว้ในกรณีฉุกเฉินด้วยค่ะ


เพียงคุณพ่อคุณแม่ดูแลเจ้าตัวเล็กอย่างใกล้ชิด ให้มีร่างกายที่อบอุ่นอยู่เสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ และใส่ใจความสะอาดของใช้ส่วนตัวของลูก ก็ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรค ให้ห่างไกลความเจ็บป่วยในช่วงหน้าหนาวนี้ได้แล้ว

โดย สิริพร
จาก : นิตยสารรักลูก
เรียบเรียง : Momypedia

โรงพยาบาลภูเขียวเตรียมซ้อมแผนระงับอัคคีภัย ประจำปี2557
        
          โรงพยาบาลภูเขียวเตรียมพร้อมในการซ้อมแผนป้องกันและระงับอัคคีภัย ประจำปี 2557 เพื่อเตรียมความพร้อมในทุก ๆ ด้าน หากเกิดสถานการณ์จริง
          
         ซึ่งวัตถุประสงค์หลักในการซ้อมแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยในครั้งนี้  เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระงับอัคคีภัย และความตื่นตัวของบุคลากรทุกฝ่ายของโรงพยาบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้มีทักษะและสามารถปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจำลองสถานการณ์เกิดเหตุในช่วงบ่ายวันศุกร์ที่  27  ธันวาคม  2557  ที่หอผู้ป่วยศัลยกรรมชาย  ชั้น  4  อาคารอุบัติเหตุฉุกเฉิน

         โอกาสนี้ โรงพยาบาลภูเขียวขอประชาสัมพันธ์การซ้อมแผนระงับอัคคีภัย ประจำปี 2557  ในช่วงบ่ายของวันศุกร์ที่  27  ธันวาคม  2557  ที่หอผู้ป่วยศัลยกรรมชาย  ชั้น  4  อาคารอุบัติเหตุฉุกเฉินโรงพยาบาลภูเขียว จึงแจ้งให้ประชาชนได้ทราบ เพื่อมิให้เกิดความตื่นตระหนก และขอให้ประชาชนที่ไม่มีความจำเป็นหลีกเลี่ยงการสัญจรในถนนบริเวณรอบโรงพยาบาลในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย  และต้องขออภัยในความไม่สะดวกมา    โอกาสนี้

6 โรคที่มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูหนาว




 โรคไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ อาการจะเริ่มด้วยการมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ไอ เมื่อเริ่มมีอาการควรนอนพักผ่อนให้มาก ๆ ดื่มน้ำบ่อย ๆ ถ้าตัวร้อนมากควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัว หรือกินยาลดไข้ อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 2-7 วัน แต่หากมีอาการไอมากขึ้น หรือมีไข้สูงนานเกิน 2 วัน ควรไปพบแพทย์

 โรคปอดบวม จะมีอาการโดยทั่วไปได้แก่ ไอ เจ็บหน้าอก มีไข้สูง และหายใจหอบ การวินิจฉัยจะกระทำโดยการฉายรังสีเอกซ์และการตรวจเสมหะ ซึ่งหากมีความรุนแรง ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากเป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากที่สุดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี รวมทั้งเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อย เด็กขาดสารอาหาร เด็กที่มีความพิการแต่กำเนิด เช่น โรคหัวใจ เป็นต้น

 โรคหัด มักเกิดในเด็กโตและวัยรุ่น อาการจะเริ่มจากมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง และจะมีผื่นขึ้นภาย หลังมีไข้ประมาณ 4 วัน จากนั้น ผื่นจะกระจายทั่วตัว โดยผื่นจะจางหายไปภายใน 2 สัปดาห์ เด็กที่ป่วยเป็นหัด ให้แยกออกจากเด็กอื่น ๆ ประมาณ 1 สัปดาห์

 โรคหัดเยอรมัน เป็นได้ทั้งผู้ใหญ่ และเด็กเล็ก มีอาการไข้ ออกผื่นคล้ายโรคหัด บางรายอาจไม่มีผื่นขึ้น หากเป็นหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ ดังนั้น ควรพบแพทย์ และหยุดงาน หรือหยุดเรียนประมาณ 1 สัปดาห์

 โรคอีสุกอีใส มักจะเกิดในเด็ก เมื่อเป็นโรคนี้แล้ว จะมีภูมิต้านทานโรคตลอดชีวิต อาการจะเริ่มด้วยไข้ต่ำ ๆ ต่อมา จะมีผื่นขึ้นที่หนังศีรษะ หน้า ตามตัว โดยเริ่มเป็นผื่นแดง ตุ่มนูน แล้วเปลี่ยนเป็นตุ่มพองใสหลังมีไข้ 2-3 วัน จากนั้น ตุ่มจะเป็นหนอง และแห้งตกสะเก็ดหลุดออกเองประมาณ 5-20 วัน เด็กนักเรียนที่ป่วยควรหยุดเรียนประมาณ 1 สัปดาห์ เด็กเล็กที่ป่วยควรตัดเล็บให้สั้น เพื่อป้องกันการอักเสบจากการเกาที่ผื่น

  โรคอุจจาระร่วง ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า โรต้าไวรัส มักจะเกิดขึ้นกับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ติดต่อโดยการดื่มน้ำ หรือกินอาหารที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อนเข้าไป โดยเด็กจะถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ หรือถ่ายเหลวบ่อยครั้ง โดยทั่วไปอาการไม่รุนแรง แต่เด็กบางคนอาจขาดน้ำรุนแรง หากมีเด็กในบ้านถ่ายเหลว ควรให้กินอาหารเหลวบ่อย ๆ เช่น น้ำข้าวต้ม น้ำแกงจืด ให้ดื่มนมแม่ สำหรับเด็กที่ดื่มนมผสม ควรผสมนมให้เจือจางลงครึ่งหนึ่งจนกว่าอาการจะดีขึ้น หากยังถ่ายบ่อยให้ผสมสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ให้ดื่มบ่อย ๆ อาการจะกลับเป็นปกติได้ภายใน 8-12 ชั่วโมง หากอาการไม่ดีขึ้นต้องรีบพาไปพบแพทย์ทันที

          ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้เตือนเป็นพิเศษสำหรับกลุ่มประชาชนที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด โรคโลหิตจาง เนื่องจากมีระดับภูมิต้านทานโรคต่ำอยู่แล้ว โดยขอให้รักษาความอบอุ่นร่างกาย ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มมึนเมา ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ล้างมือบ่อย ๆ เพื่อจะได้มีร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายที่มักมาพร้อมกับหน้าหนาวนั่นเอง

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ช่วยลูกมีความคิดเชิงบวกด้วย L-O-V-E

  

ลักษณะของความเป็นมนุษย์ คือ มีอารมณ์และความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้ง มีความสามารถในการคิดได้หลากหลาย สลับซับซ้อนและคิดได้หลายแง่หลายมุม คนเราคิดนั่นคิดนี่อยู่ตลอดเวลา แม้แต่เวลาหลับก็ยังคิด(แสดงออกมาในรูปของความฝัน) ความคิดกับอารมณ์เป็นสิ่งที่สัมพันธ์กันอย่างมาก ซึ่งหากเราคิดในแง่บวก มองโลกในแง่ดี ก็จะทำให้เรารู้สึกมีความสุข มีความหวังใจและมีกำลังใจในการดำเนินชีวิตที่จะนำพาเราไปสู่ความสำเร็จได้ แต่ตรงกันข้าม หากเราคิดในแง่ลบ มองโลกในแง่ร้าย ก็จะทำให้เครียด มีความทุกข์และเกิดความล้มเหลวในชีวิตได้ง่าย ดังนั้น การมีความคิดเชิงบวกจึงเป็นสิ่งที่ดีที่ควรจะมีอยู่กับมนุษย์ทุกคน ซึ่งความคิดเชิงบวกนี้สามารถเริ่มและพัฒนาได้ตั้งแต่ในวัยเด็ก ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรใส่ใจในการปลูกฝังให้ลูกรักของเราเป็นคนที่มีความคิดเชิงบวกได้ด้วยวิธีการดังนี้
       

       1. L = Listen (รับฟัง) เด็กๆทุกคนต้องการให้คุณพ่อคุณแม่รับฟังความรู้สึกและความคิดเห็นของเขาอย่างจริงจัง เวลาที่ลูกพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่หรือเวลาที่ลูกเล่าเรื่องใด ไม่ว่าเรื่องเกี่ยวกับตัวของลูกเองหรือเรื่องกิจกรรมที่ลูกทำร่วมกับเพื่อนที่โรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ควรรับฟังด้วยความใส่ใจและมีการตอบรับ ซักถามกับสิ่งที่ลูกเล่าโดยที่ไม่แสดงความรำคาญหรือเบื่อหน่าย ท่าทีเช่นนี้ของคุณพ่อคุณแม่จะช่วยเสริมสร้างให้ลูกมีความมั่นใจในตนเอง กล้าคิด กล้าแสดงความคิดเห็นและเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งจะพัฒนาให้ลูกเป็นคนที่มีความคิดเชิงบวกทั้งกับตนเองและกับผู้อื่น โดยเขาจะเป็นทั้งผู้พูดและผู้ฟังที่ดี มีความเข้าใจและเคารพในความคิดเห็นของผู้อื่น ซึ่งจะทำให้เขาเป็นที่รักของคนทั่วไป นอกจากนี้ผลดีอีกอย่างก็คือลูกจะไม่เป็นคนที่มีความลับกับพ่อแม่ด้วย
       

       2. O = Opportunity (โอกาส) เด็กช่วงวัยอนุบาลถึงวัยรุ่นมีความอยากรู้อยากเห็นโดยธรรมชาติและพร้อมที่จะทดลองเรียนรู้สิ่งต่างๆที่เข้ามาในชีวิต คุณพ่อคุณแม่จึงควรเปิดโอกาสให้ลูกได้สัมผัสและเรียนรู้ในกิจกรรมหลากหลายอย่างมีความสุขเพื่อให้เขาได้พัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ เช่น การเรียนศิลปะ ดนตรี กีฬา คุณพ่อคุณแม่อย่าบังคับให้ลูกต้องทำในสิ่งที่เขาไม่ชอบและไม่ถนัด แต่ควรให้ลูกมีอิสระในการเลือกทำกิจกรรมที่เขาพึงพอใจด้วยตนเอง เพราะเมื่อเขาได้ทำกิจกรรมที่ตนเองชอบและถนัดแล้ว เขาจะทำสิ่งนั้นได้ดี ซึ่งอาจพัฒนาจนเกิดความเชี่ยวชาญเลยก็เป็นได้ ดังนั้นการให้โอกาสจึงเป็นอีกวิธีการหนึ่งในการพัฒนาความคิดเชิงบวกของลูกในแง่ของการสร้างความภาคภูมิใจในตนเองและในการเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ให้โอกาสแก่ผู้อื่นต่อไปด้วย
       

       3. V = Vision (วิสัยทัศน์) หมายถึง การมองหรือการสร้างภาพในการเดินไปสู่อนาคต คุณพ่อคุณแม่ควรสนับสนุนลูก ไม่ว่าลูกมีความฝันหรือความตั้งใจอยากจะเป็นหรืออยากจะทำอะไร ตอนที่ผู้เขียนเป็นเด็ก เคยมีความฝันที่อยากจะเป็นจิตรกรเพราะชอบวาดรูป คุณพ่อคุณแม่ก็ให้การสนับสนุนโดยพาไปเรียนศิลปะ และหากมีโอกาสในวันหยุดก็พาไปดูงานแสดงภาพเขียน นอกจากนี้คุณครูที่โรงเรียนก็ให้การสนับสนุนด้วยโดยการส่งภาพวาดของผู้เขียนเข้าประกวดอยู่เสมอ แม้จะได้รางวัลบ้างไม่ได้รางวัลบ้าง แต่ก็สร้างความภาคภูมิใจให้กับตนเองในทุกครั้งที่นึกถึง (ถึงแม้ว่าเมื่อโตมาผู้เขียนจะไม่ได้เป็นจิตรกรก็ตาม)
       
       ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องสนับสนุนและช่วยสานความฝันของลูก อย่ามองเป็นเรื่องตลกหรือคิดว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะหากลูกได้รับกำลังใจและการเสริมแรงที่เหมาะสมแล้ว สักวันเขาจะไขว่คว้าสิ่งนั้นเอาไว้ได้และจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน ดังนั้นวิธีการนี้จึงเป็นการช่วยพัฒนาความคิดเชิงบวกของลูกในการมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำสิ่งต่างๆให้สำเร็จได้ด้วยตนเองและฝึกให้เขาเป็นคนที่จะมีความรู้สึกชื่นชมกับความคิดและความฝันของผู้อื่นเช่นกัน
       

       4. E = Emotional Quotient (ความฉลาดทางอารมณ์) คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกได้เข้าสังคมคบหาเพื่อนทั้งในวัยเดียวกันหรือต่างวัย ทั้งเพื่อนเพศเดียวกันหรือต่างเพศ ซึ่งถือเป็นการฝึกให้ลูกได้รู้จักการสร้างความสัมพันธ์และการปรับตัวในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น ได้เรียนรู้ในการแบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ ผลัดกันเป็นผู้นำผู้ตาม เห็นอกเห็นใจ ให้อภัย ยอมรับความผิดพลาดของตนเองและผู้อื่น ซึ่งการเป็นคนที่มีความฉลาดทางด้านอารมณ์นี้เป็นคุณสมบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งของคนที่มีความคิดเชิงบวกเพราะช่วยให้ลูกเป็นคนมีความคิดและจิตใจที่ดีงาม
       

       5. L–O–V–E (ความรัก) คุณพ่อคุณแม่ควรแสดงความรักกับลูกในทุกทาง ทั้งคำพูดและการกระทำ เช่น โอบกอด รวมถึงการแสดงความเมตตากับลูกอย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งจะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่น มั่นคงและปลอดภัยความรักเหมือนยาวิเศษที่สามารถเปลี่ยนสิ่งร้ายให้กลายเป็นดีได้ เปลี่ยนเด็กดื้อให้กลายเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย เปลี่ยนเด็กเกเรให้กลายเป็นเด็กอ่อนโยน เปลี่ยนเด็กอ่อนแอให้กลายเป็นเด็กเข้มแข็ง การแสดงให้ลูกรู้ว่าตนเองมีค่าและเป็นที่ยอมรับของคุณพ่อคุณแม่เป็นวิธีการสร้างความคิดเชิงบวกให้กับลูกได้ดีที่สุด ซึ่งนอกจากจะทำให้เขาจะเป็นคนที่เต็มอิ่มด้วยความรักแล้ว เขาจะเรียนรู้ที่จะเป็นคนที่มอบความรักให้แก่ผู้อื่นด้วยใจจริงเช่นกัน
       


       การที่ลูกมีความคิดในเชิงบวก ทำให้เขามีมุมมองที่ดีทั้งกับตนเองและผู้อื่น การที่คุณพ่อคุณแม่รับฟัง (L) ให้โอกาส (O) สนับสนุนความคิดฝัน (V) ฝึกให้ลูกมีความฉลาดทางอารมณ์ (E) และมอบความรัก (L–O–V–E) ให้กับลูก ถือเป็นบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้ลูกของเราเป็นคนมองโลกในแง่ดี มีความคิดที่ดีงาม ซึ่งเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้ไม่ว่าในวันนี้หรือในวันข้างหน้าที่เขาจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เขาจะเป็นคนหนึ่งที่มีพลังใจในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามเพื่อสังคมได้ต่อไป


ดร.แพง ชินพงศ์