โรคที่พบบ่อยในเด็กวัย 1-3 ปี



kids_momypedia

 

โรคที่พบบ่อยในเด็กวัย 1-3 ปี

โดย Momypedia


โรคอ้วน
โรคอ้วน คือ ภาวะที่ไม่สมดุลระหว่างการได้รับพลังงาน และการใช้พลังงานของร่างกาย โดยการได้รับพลังงานในที่นี้หมายถึงพฤติกรรมการกินของเจ้าหนูที่ไม่สัมพันธ์กับการออกกำลังกาย หรือการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันนั่นเอง

โรคอ้วน
ใน เด็กถือได้ว่าเป็นโรคที่แพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ โดยการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552 พบว่า ‘ความชุกของภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าเด็กไทยอายุ 1-14 ปีจำนวน 540,000 คนหรือร้อยละ 4.7 มีภาวะน้ำหนักเกิน และอีก 540,000 คน หรือร้อยละ 4.6 มีภาวะอ้วน และแม้ว่าสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากกรรมพันธุ์ แต่ภาวการณ์กินอย่างไม่เหมาะสม สร้างโรคอ้วนได้มากกว่ากรรมพันธุ์อีก โดยเฉพาะอาหารเหล่านี้
        • อาหาร - อาหารไฮแคลอรี เช่น อาหารฟาสฟู้ดส์ อาหารขนมถุงอบกรอบ อาหารประเภทที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบ และอาหารที่มีนมเป็นส่วนประกอบมาก เช่น เบเกอรี่ ชีส เนย เป็นต้น
        • เครื่องดื่ม - น้ำหวาน น้ำอัดลม หรือแม้กระทั่งนมเปรี้ยวก็มีปริมาณน้ำเชื่อมมาก นั่นทำให้มีระดับน้ำตาลที่มากตามไปด้วยครับ

ลักษณะอาการและผลกระทบ

นอกจากสภาพร่างกายที่ดูเจ้าเนื้อขึ้น น้ำหนักขึ้นเกินกว่ามาตรฐานปกติ อาจจะมีสัญญาณบางอย่างที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น ปวดข้อเท้า เพราะข้อเท้าต้องรองรับน้ำหนักตัวที่มากจนเกินไป อาการนอนกรน และหยุดหายใจขณะหลับ เพราะเด็กอ้วนจะมีท่อทางเดินหายใจแคบกว่าปกติ และเด็กที่เป็นโรคอ้วนจะเหนื่อยง่ายกว่าเด็กปกติอีกด้วย โรคหัวใจขาดเลือดตั้งแต่เล็กๆ โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ


อาหารที่เหมาะสมกับเด็กเพื่อป้องกันโรคอ้วน
        • เนื้อสัตว์ - ควรเป็นเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถ้าเลือกได้อาจเป็นเมนูอาหารปลา เพราะเนื้อปลามีไขมันต่ำกว่าเนื้อสัตว์อื่นๆ
        • ไข่ - เด็กๆ ควรกินไข่วันละ 1 ฟอง
        • นม - เด็กสามารถดื่มนมวันละ 2-3 แก้วหรือกล่องได้ แต่ถ้าคนไหนอ้วนอยู่แล้วควรเปลี่ยนมาเป็นนมพร่องมันเนยแทน
        • ไขมัน และน้ำมัน - แนะนำการใช้น้ำมันพืชเช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว ฯลฯ ยกเว้น น้ำมันปาล์มหรือน้ำมันมะพร้าวในการปรุงอาหารสลับกับการประกอบอาหารด้วยวิธี ต้ม นึ่งบ้าง
        • ข้าวสวย และอาหารแป้งอื่นๆ - เด็กวัยนี้ไม่ควรกินแป้ง หรือข้าวเกิน 6 ทัพพี/วัน
        • ผัก - ควรให้เด็กได้กินพืชผักในปริมาณที่มากๆ หรือประมาณวันละ 1-2 ถ้วยตวง โดยเฉพาะผักใบเขียว และผักอื่นๆ เช่น ผักบุ้ง คะน้า ตำลึง กะหล่ำปลี ฯลฯ
        • ผลไม้ - พยายามจัดเมนูให้ลูกได้กินผลไม้สดๆ สักมื้อละ 1 ส่วน (ให้พลังงาน 60 กิโลแคลอรี่) เช่น ส้มเขียวหวาน 1 ผล หรือเงาะ 4 ผล หรือฝรั่งครึ่งผล (ขนาดกลาง) ฯลฯ

อาหารที่ควรเลี่ยงเพื่อป้องกันโรคอ้วนในเด็ก
        • แฮมเบอร์เกอร์
        • โดนัท
        • ไก่ชุบแป้งทอด
        • มันฝรั่งทอด
        • น้ำอัดลม
        • ข้าวโพดอบเนย
        • วุ้นผงสำเร็จรูป และเยลลี่
        • ไอศกรีม
คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกอาหารดีต่อสุขภาพ บริโภคให้เหมาะสมตาม ‘ธงโภชนาการ’ หรืออาหารหลัก 5 หมู่ ที่จะบอกกลุ่มอาหารและสัดส่วนการกินอาหารในแต่ละกลุ่มอย่างเหมาะสม และถ้าเป็นไปได้ให้ทำอาหาร กินกันเองดีกว่า โดยให้เจ้าหนูช่วยคิดเลือกเมนูว่าวันนี้เขาอยากกินอะไร ซึ่งการทำอาหารเองจะช่วยให้ลดกลุ่มอาหารจำพวกแคลอรี่สูงลงได้ และ ควรสร้างนิสัยการออกกำลังกายที่ดีแก่เด็ก ชวนเจ้าหนูออกกำลังกายสักอาทิตย์ละ 2 – 3 ครั้ง ครั้งละ 20-30 นาที โดยเฉพาะการพาไปสนามเด็กเล่น จะช่วยได้มากทีเดียว เพราะลูกจะรู้สึกสนุกด้วย


โรคภูมิแพ้

ร่างกายของคนเราจะมีระบบภูมิต้านทานเพื่อคอยทำหน้าที่ ตรวจหาเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย แล้วขับไล่หรือทำลายสิ่งแปลกปลอมนั้นๆ ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีพร้อมกัน แต่ถ้าภูมิต้านทานเกิดทำงานผิดปกติขึ้นมา ก็จะพาให้เกิดอาการแปลกๆขึ้น โดยทั่ว ไปแบ่งเป็น 3 กลุ่ม
        • โรคภูมิแพ้ (Allergic Diease) เป็นโรคที่สภาวะของภูมิต้านทานทำงานผิดปกติในเชิงขยันขันแข็งหรือทำงานเร็ว ไป ทำให้ร่างกายเกิดอาการทุกข์ทรมานร่วมไปด้วย เช่น ถ้าเพียงสูดละอองเกสรดอกไม้หรือไรฝุ่นเข้าไป ระบบจมูกกลับมีการทำงานเช่นเดียวกับสูดเชื้อโรคเข้าไป
        • โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เกิดจากการทำงานผิดปกติของระบบภูมิต้านทานประเภทที่ภูมิต้านทานไม่ค่อยทำงาน ซึ่งมีทั้งชนิดที่เป็นมาแต่กำเนิดและเกิดขึ้นภายหลัง และหนึ่งในนั้นที่เรารู้จักคือ โรคเอดส์ นั่นเอง
        • โรคพุ่มพวง โรคที่ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองอวัยวะของตัวเองผิดปกติหรือภูมิต้านทานขยัน ทำงานเกินกับร่างกายตนเอง ที่เรียกว่า Autoimmunedisease เช่น โรคเอสแอลอี หรือที่คนรู้จักทั่วไปว่าโรคพุ่มพวง

สาเหตุของโรคภูมิแพ้ในเด็ก
1. เกิดจากกรรมพันธุ์
        • คุณพ่อคุณแม่คนใดคนหนึ่งเป็นภูมิแพ้ ลูกมีโอกาสเป็นภูมิแพ้ 25%
        • คุณพ่อคุณแม่เป็นภูมิแพ้ทั้งคู่ ลูกมีโอกาสเป็นภูมิแพ้ 50%
        • คุณพ่อหรือคุณแม่เป็นภูมิแพ้ที่อวัยวะหรือระบบเดียวกัน ลูกจะมีโอกาสเป็นภูมิแพ้ที่อวัยวะและระบบนั้น 75% เช่น พ่อและแม่เป็นภูมิแพ้ที่ระบบหลอดลม ลูกก็มีโอกาสเป็นที่ระบบหลอดลมถึง 75 %
2. สิ่งแวดล้อมภายนอก 

2.1 สิ่งแวดล้อมภายในบ้าน ถ้าเจ้าตัวเล็กจะต้องอยู่กับสิ่งแวดล้อมเหล่านี้เป็นระยะเวลานานๆ ก็มีโอกาสเป็นภูมิแพ้ได้
        • การจัดสภาพบ้านที่สะสมไปด้วย ฝุ่น ไรฝุ่น
        • รังแค เศษผิวหนังของแมว สุนัข ขนสัตว์ปีก
        • ของใช้เจ้าตัวเล็ก เช่น ผ้าห่มผืนหนาๆ ที่นอน หมอน ตุ๊กตาขนเยอะๆ ที่สะสมไปด้วยฝุ่น
2.2 ไม่ได้กินนมแม่ นมแม่เป็นตัวสร้างภูมิต้านทานที่ทำงานอย่างเหมาะสม ทำให้เป็นภูมิแพ้น้อยลงแม้ว่าจะมีกรรมพันธุ์เป็นภูมิแพ้อยู่ก็ตาม

โรคภูมิแพ้ที่สามารถเกิดกับ 5 ระบบของร่างกายเด็ก
        • ระบบจมูก มีอาการจามง่าย น้ำมูกใสๆ ไหลอยู่เรื่อยๆ คันจมูกมาก คัดแน่นในจมูกอยู่ตลอดเวลา
        • ระบบหลอดลม หรืออาการของโรคหอบหืด มีอาการไอง่าย ไอมีเสมหะ ขณะออกกำลังกายหรือเจอสิ่งที่กระตุ้นให้แพ้ จะเกิดอาการหลอดลมหดตัวส่งผลให้ หายใจเหนื่อยหอบ
        • ระบบผิวหนัง เช่น อาการคัน เป็นผื่น ผิวหนังแห้ง เป็นขุย มีรอยด่างเกิดจาการเกา ลมพิษ
        • ระบบทางเดินอาหาร เป็นอาการที่ระบบภูมิต้านทานของลำไส้ทำงานมากเกิน เช่น แพ้ยา หรือแพ้อาหาร
        • ระบบตา จะมีอาการคันตา ทำให้ขยี้ตาบ่อยจนตาขาวเป็นสีเหลืองๆ หรือเส้นเลือดฝอยเม็ดเล็กๆขึ้นที่ตาขาว น้ำตาไหลง่าย แสบตา ตาสู้แสงไม่ค่อยได้
คุณพ่อคุณแม่ที่เป็นโรคภูมิแพ้เมื่อมีลูกไม่จำเป็นต้องพาลูกไปทดสอบภูมิแพ้ทันที ควรรอจนกว่าจะเห็นอาการผิดปกติบางอย่าง เช่น ลูกจามตอนเช้าทุกวัน หรือไปในที่มีฝุ่นละอองเยอะแล้วคันบริเวณตา มีน้ำมูกส่วนใหญ่จะเป็นน้ำมูกใส ฯลฯ เมื่อมีอาการแพ้ชัดเจนอย่างนี้ คุณแม่จึงค่อยพาลูกมาทดสอบภูมิแพ้เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง

5 อันดับ สารก่อภูมิแพ้ทางเดินหายใจ
        • อันดับ 1 ไรฝุ่น
        • อันดับ 2 เศษโปรตีนจากแมลงสาบ
        • อันดับ 3 ขนสัตว์เลี้ยง เช่น แมว สุนัข ฯลฯ
        • อันดับ 4 ละอองเกสรต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกสรดอกหญ้า
        • อันดับ 5 เชื้อรา

โรคฟัน
ภายในช่องปากเล็กๆ ของลูก มีปัญหาและสิ่งที่คุณแม่ต้องเฝ้าระวังมากมาย และไม่ใช่เฉพาะฟันอย่างเดียวที่จะต้องดูแล ยังมีโรคในช่องปากอีกมากมายที่คุณอาจจะลืมสังเกตได้
    • ลิ้นเป็นฝ้าขาว - หลังจากลูกกินนมแล้ว หากไม่ทำความสะอาดคราบนมเกาะอยู่ตามสันเหงือก กระพุ้งแก้มก็จะกลายเป็นแหล่งอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ เกิดฝ้าขาวที่เพดานปาก ลิ้น และฟันผุ ควรดูแลหลังจากดื่มนมทุกครั้งให้คุณแม่ใช้ผ้าสะอาดพันที่นิ้วเช็ดที่บริเวณลิ้น และเพดานปากลูก หรือให้ลูกบ้วนปากเพื่อขจัดคราบนมออกไป
    • ฟันน้ำนมขึ้นไม่ครบ 20 ซี่ - ฟันน้ำนมมีพัฒนาการตั้งแต่เป็นทารกอยู่ในครรภ์ตอน 6 สัปดาห์ โดยมีการรวมตัวของเนื้อเยื่อเกิดเป็นหน่อฟัน อยู่ภายในบริเวณที่จะเจริญเป็นกระดูกขากรรไกรบน 10 หน่อ และขากรรไกรล่าง 10 หน่อ และถ้าหากหน่อฟันสร้างไม่ครบ 20 หน่อก็จะทำให้จำนวนฟันน้ำนมผิดปกติไป เด็กบางคนมีฟันน้ำนมไม่ครบ 20 ซี่หรือมีฟันแฝดคือ ฟัน 2 ซี่เชื่อมติดกัน คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องแก้ไขหรือรักษาแต่อย่างใด แต่จำนวนฟันที่ไม่เท่ากันอาจมีผลต่อพื้นที่ที่กว้างไม่พอเพียงต่อขนาดของฟัน แท้ที่อยู่ข้างใต้ ทำให้ฟันแท้ขึ้นซ้อนหรือเกได้
    • ฟันน้ำนมผุเร็ว - โรคฟันผุพบในเด็กตั้งแต่อายุก่อน 1 ปี และจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเด็กอายุ 1-3 ปี เนื่องจากชั้นเคลือบฟันน้ำนมหนาเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของฟันแท้ ทำให้ฟันน้ำนมผุง่ายกว่าฟันแท้ รวมถึงมีแร่ธาตุแคลเซียมฟอสเฟตเป็นองค์ประกอบน้อยกว่าฟันแท้ บริเวณโพรงประสาทฟันน้ำนมมีชั้นของเคลือบฟันและเนื้อฟันปกคลุมอยู่บางๆ การผุของฟันน้ำนมจึงลุกลามสู่โพรงประสาทฟันได้อย่างรวดเร็ว
การที่ฟันผุตั้งแต่อายุน้อยๆ จะส่งผลให้รักษายาก คุณพ่อคุณแม่จึงควรป้องกันด้วยการตรวจและดูแลรักษาความสะอาดฟันของลูกตั้ง แต่ลูกอายุก่อน 1 ปี โดยเฉพาะการตรวจคราบจุลินทรีย์หรือขี้ฟัน บริเวณคอฟันของฟันหน้าบน ฟันน้ำนมที่ผุระยะเริ่มต้นจะลุกลามไปเป็นรูผุได้ในเวลา 6-18 เดือน

ตำแหน่งที่ฟันผุง่ายมี 2 จุดคือ ฟันน้ำนมซี่หน้าบนจะผุได้ง่ายกว่าฟันหน้าล่าง บริเวณที่พบมากคือคอฟันที่อยู่ติดกับเหงือกเนื่องจากเด็กดูดนม รวมถึงเป็นบริเวณที่มีน้ำลายไหลผ่านน้อย การชะล้างตามธรรมชาติจากน้ำลายจึงทำได้ไม่ดีนัก ขณะที่ฟันหน้าล่างอยู่ใกล้รูเปิดของต่อมน้ำลายใต้ลิ้น น้ำลายจึงหลั่งออกมาชะล้างฟันได้มากvอีกจุดก็คือฟันกราม ด้านบดเคี้ยวมีหลุมและร่องฟันลึก บริเวณซอกฟันระหว่างฟัน 2 ซี่ก็เป็นตำแหน่งที่ผุได้ง่าย เพราะปลายขนแปรงสีฟันเข้าไปทำความสะอาดได้ยาก โดยเฉพาะเด็กที่ดูดนมจากขวด ทำให้ฟันแช่อยู่ในนมนาน ยิ่งเป็นนมหวานฟันก็จะผุง่ายขึ้น

เด็กควรเลิกดื่มนมจากขวดเมื่ออายุ 12-18 เดือน ควรฝึกให้เด็กดื่มนมจากถ้วย เพราะระยะเวลาที่ใช้ในการดื่มนมจากถ้วยน้อยกว่าการดื่มนมจากขวด เวลาที่นมตกค้างในช่องปากจึงลดลงไปด้วย และหลีกเลี่ยงนมรสหวาน

เด็กๆ ส่วนใหญ่จะกลัวหมอฟัน เนื่องจากเด็กจะจินตนาการว่า หมอฟันใส่หน้ากากปิดปากน่ากลัวแถมมีอุปกรณ์แปลกๆ มากมาย รวมไปถึงการทำฟันจะทำให้เด็กเจ็บปวดได้ คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบหมอฟันตั้งแต่ลูกยังไม่มีฟันผุ เพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับหมอฟัน เก้าอี้ทำฟัน และเครื่องมือชนิดต่างๆ ของคุณหมอ ในการตรวจครั้งแรกลูกจะได้นั่งเก้าอี้ของหมอฟัน หมอจะเปิดไฟส่องดูฟัน และใช้กระจกเล็กๆ ช่วยเข้าไปส่องดู และคุณหมอจะขัดฟันให้เด็กด้วยหัวขัดยางกับผงขัด เพื่อให้เด็กเริ่มรู้จักเครื่องมือที่หมุนๆ มีเสียง และการใส่เครื่องมือเข้าไปในช่องปาก เมื่อคุ้นเคยและไม่ได้เจ็บตัวตั้งแต่พบกันครั้งแรก ก็จะช่วยทำให้อาการกลัวหมอฟันไม่เกิดขึ้นได้ 



kids_momypedia

โรคหวัด

โรคหวัดจัดเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจส่วนบน และเป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็ก แม้ในเด็กแข็งแรงทั่วไปอาจจะพบได้ถึงปีละ 6-8 ครั้ง และมักจะเป็นในช่วง 2 ขวบปีแรก ซึ่งจะพบได้บ่อยในเด็กเล็ก เด็กที่ไม่แข็งแรง เด็กที่น้ำหนักน้อย เด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมแออัด เด็กที่นำไปฝากเลี้ยงไว้ในเนอสเซอร์รี่หรือเดย์แคร์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งเด็กที่เริ่มไปโรงเรียนด้วย

สาเหตุของหวัดส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งมีมากกว่า 200 ชนิด โดยมีส่วนน้อยเท่านั้นที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เพราะว่าโรคหวัดเกิดจากสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ เมื่อไปเจอคนมากขึ้น เด็กอาจจะอยู่กับคนหลายๆ ภาวะมีทั้งสบายดีและไม่สบายด้วยโรคต่างๆ โอกาสที่จะติดเชื้อจึงมากขึ้นตาม หรือในบางครอบครัวที่พี่คนโตไปโรงเรียน ก็จะพบว่าน้องคนเล็กที่ยังอยู่ในบ้านก็เป็นหวัดบ่อยขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นของฝากจากพี่ๆ ที่ไปโรงเรียนแล้วก็ได้ โดยพี่อาจจะไปสัมผัสกับเพื่อนคนอื่นที่ไม่สบายแล้วเอามาติดน้อง

แต่ที่กล่าวมานี้ไม่ได้หมายความว่าจะให้คุณพ่อคุณแม่เก็บลูกหลานไว้ในบ้าน เพราะจากการศึกษาพบว่าเมื่อเด็ก ไปโรงเรียนและเติบโตขึ้น โอกาสติดเชื้อหรือเป็นหวัดจะน้อยลงตามไปด้วย อาจจะเป็นเพราะภูมิต้านทานของเด็กดีขึ้น ทำให้ร่างกายมีความแข็งแรงมากขึ้นด้วย

ลักษณะอาการ
หวัดจะทำให้เกิดอาการในเด็กเล็กรุนแรงมากกว่าในเด็กโตหรือในวัยผู้ใหญ่ โดยจะแบ่งลักษณะอาการดังนี้
    • เด็กเล็ก - มักเริ่มต้นด้วยอาการไข้เฉียบพลัน ร้องกวนโยเย หงุดหงิด จาม และมีน้ำมูกไหลตามมา ซึ่งในช่วงแรกลักษณะน้ำมูกจะใส มักมีอาการแน่นคัดจมูก เกิดอาการหายใจลำบาก มีเสียงดัง กินนมได้น้อย และเหนื่อยเร็วเวลาดูดนม หรือบางครั้งอาจจะมีอาเจียนตามมาหลังกินนม นอกจากนี้โรคหวัดยังทำให้เกิดอาการเจ็บคอและไอร่วมด้วย
    • เด็กโต - มักจะเริ่มด้วยอาการแห้งแสบจมูกหรือคอหอย ตามด้วยจาม ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว มีน้ำมูกใส ไอ อาจมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และไข้ต่ำๆ ร่วมด้วย โดยภายใน 1-2 วัน น้ำมูกและเสมหะจะเปลี่ยนเป็นเหนียวข้นมากขึ้น ทั้ง นี้เชื้อไวรัสบางชนิดนอกจากจะทำให้เกิดอาการของระบบทางเดินหายใจแล้ว ยังทำให้เกิดอาการของระบบทางเดินอาหารได้ด้วย เช่น ทำให้อาเจียน และท้องเสียร่วมด้วยก็ได้


โรคหวัดประเภทต่างๆ
        • เกิดจากติดเชื้อเรื้อรัง - เด็กๆ บางคนจะมีลักษณะอาการหวัด โดยน้ำมูกเปลี่ยนจากสีใสขาวขุ่น มาเป็นเหลืองและเขียวข้น เราอาจจะต้องนึกถึงสาเหตุอื่นด้วย เช่น ภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรัง หรือมีการติดเชื้อของอวัยวะอื่นที่ยังไม่ได้รับการรักษา เช่น การติดเชื้อของต่อมน้ำเหลืองในช่องคอ (ต่อมทอนซิล หรือต่อมอดีนอยด์ขนาดใหญ่) ทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินของเสมหะหรือเยื่อเมือกปกติ การติดเชื้อโรคเรื้อรังบางชนิด หรือแม้กระทั่งการมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในระบบทางเดินหายใจ เช่น เด็กอาจนำเม็ดพลาสติกหรือเมล็ดถั่วยัดใส่จมูกระหว่างเล่น ทำให้เกิดอาการอุดตันและมีการติดเชื้อตามมา
        • การกินยาแก้อักเสบหรือยาฆ่าเชื้อโรคไม่ครบ พออาการดีขึ้น น้ำมูกเริ่มแห้ง คุณพ่อคุณแม่บางคนก็จะหยุดให้ลูกกินยา เพราะรู้สึกว่าลูกกินยายากจึงไม่อยากให้ลูกกินต่อไปอีก การทำอย่างนี้จะก่อปัญหาทำให้การติดเชื้อนั้นไม่หายขาด ทำให้เชื้อดื้อยามากขึ้น จำเป็นจะต้องใช้ยาที่สูงขึ้นมีราคาแพงขึ้นโดยไม่มีความจำเป็น ดังนั้นควรให้ลูกกินยาตามที่แพทย์สั่งให้ครบจะดีที่สุด
        • เกิดจากภาวะภูมิแพ้ - เป็นโรคที่เกิดจากปฏิกิริยาไวเกินของร่างกาย ทำให้มีการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุโพรงจมูก ทำให้คนไข้เกิดอาการคัน จาม น้ำมูกไหล รวมถึงอาการคัดแน่นจมูก ซึ่งจะพบมากขึ้นในเด็กโต และในปัจจุบันประเทศไทยก็มีอุบัติการณ์ของโรคนี้มากขึ้นด้วย อาจเกี่ยวข้องกับมลภาวะหรือมลพิษทางอากาศ เพราะการที่สังคมมีการเจริญเติบโตมากขึ้น ทำให้คนอยู่กันหนาแน่นมากขึ้น มีการจราจรที่แออัดติดขัด สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมทำให้เกิดโรคหวัดจากภูมิแพ้มากขึ้น ทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งนั่นคือกรรมพันธุ์ รวมทั้งการเลี้ยงดูด้วย
        • เกิดจากภาวะอื่นๆ - เด็กบางคนอาจจะมีความบกพร่องของอวัยวะที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ผนังกั้นจมูกเบี้ยวหรือผิดรูป มีการทำงานของขนพัดโบกในเยื่อบุจมูกผิดปกติ รวมถึงภาวะภูมิต้านทานของร่างกายบกพร่องหรือผิดปกติ โรคประจำตัวอื่นๆ ภาวะขาดสารอาหาร หรือน้ำหนักตัวน้อย ฯลฯ ก็อาจเป็นทั้งปัจจัยหลักและปัจจัยเสริมที่ทำให้เด็กมีอาการของหวัดเรื้อรังได้
การดูแลลูกเบื้องต้นเมื่อหวัดมาเยือน
        • ให้ลูกนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และงดเล่นหรือออกกำลังกายในช่วงที่เป็นหวัด
        • กินอาหารที่มีประโยชน์ อาจเป็นอาหารอ่อนๆ อย่างข้าวต้มหรือโจ๊ก ฯลฯ โดยให้มีคุณค่าแก่ร่างกายให้ครบทั้ง 5 หมู่
        • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำจากการที่มีไข้ขึ้นสูง และยังช่วงลดความหนืดข้นของน้ำมูกและเสมหะ
        • ควรพาลูกไปพบแพทย์เมื่อมีไข้สูงหรืออาการไม่ดีขึ้นเลย และต้องดูแลให้ลูกปฏิบัติตัวตามคำแนะนำและกินยาตามที่แพทย์สั่งจนครบ
        • หมั่นตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีนตามนัด เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อทางระบบหายใจอื่นๆ
        • รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ งดดื่มน้ำเย็นหรืออาบน้ำเย็น เพราะจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้ง่าย
        • เด็กเล็กต้องคอยเช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นเสมอ ป้องกันไม่ให้ไข้สูงขึ้นเพราะลูกอาจชักได้
        • หลายคนเชื่อว่ากินวิตามินซี จะป้องกันโรคหวัดได้แต่จริงๆ แล้วยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนมากเพียงพอว่าสามารถป้องกันโรคหวัดได้
จุดสังเกตอาการหวัดในเด็กที่ควรพบแพทย์
        • เป็นหวัดนานกว่า 10 -14 วัน
        • น้ำมูกข้นเขียว
        • มีไข้อยู่นาน และอาจจะไข้สูงจนชัก
        • มีอาการหอบ หายใจแรง หายใจหน้าอกบุ๋ม มองดูว่าเขียว มือเท้าเย็น มีอาการหายใจดังทั้งช่วงการหายใจเข้า หรือหายใจออกมีเสียงดังได้ยินเสียงวี๊ด
        • มีอาการซึม กินอาหาร น้ำ ดื่ม นมได้น้อย มีอาการแห้งขาดน้ำ
ท้องเสีย
หากลูกอึเหลวเป็นน้ำไม่มีกากเกิน 3 ครั้งต่อวันถือว่าเข้าข่ายท้องเสีย อาการถ่ายบ่อยทางการแพทย์เชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการมีสารที่ทำให้ลำไส้ทำงานมากขึ้น จึงทำให้เด็กถ่ายบ่อยขึ้นตามไปด้วย บางทีอาจเป็นเพราะเด็กดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำหวานที่มีการเติมสารให้ความหวาน ซึ่งน้ำตาลเมื่อรับประทานเข้าไปจะทำให้มีน้ำอยู๋ในโพรงลำไส้เพิ่มขึ้น และส่งผลให้อุจจาระดูเหลวผิดปกติได้

สาเหตุลูกน้อยท้องเสีย
1. ติดเชื้อในทางเดินอาหาร
สาเหตุนี้พบบ่อยมากในเด็กเอเชีย ซึ่งเกิดจากการดื่มน้ำหรืออาหารที่ไม่สะอาดและมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ ทำให้มีการขับถ่ายผิดปกติ บางครั้งมีไข้หรืออาเจียนร่วมด้วย การติดเชื้อจะมีทั้งติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย ถ้าติดเชื้อไวรัส จะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไอ หวัด มีน้ำมูก พร้อมๆ กับอาการท้องเสีย ส่วนติดเชื้อแบคทีเรียจะไม่เป็นหวัด ซึ่งการติดเชื้อยังเป็นสาเหตุของโรคลำไส้ บิด หนอนพยาธิ ฯลฯ

กลุ่มนี้อันตรายที่สุดเพราะเด็กท้องเสียจนมีภาวะการขาดน้ำ และแร่ธาตุบางอย่างไป
        • ถ้าขาดน้ำน้อยจะมีอาการปากแห้ง
        • ถ้าระดับปานกลางจะปากแห้ง ตาลึกโบ๋ เด็กเล็กที่กระหม่อมยังไม่ปิด กระหม่อมส่วนหน้าจะบุ๋มลงไป เริ่มปัสสาวะน้อยลง
        • ถ้าขาดน้ำรุนแรงมากเด็กจะช็อค ตัวเย็น ชีพจรเบา-เร็ว ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อให้สารอาหารทางเส้นเลือด ถ้าหากช้าอาจเสียชีวิตได้
        • หากเป็นเชื้อแบคทีเรียเด็กต้องได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อโรคด้วย แต่ถ้าเชื้อไวรัสไม่จำเป็นต้องรับยาปฏิชีวนะ เพราะร่างกายจะกำจัดเชื้อไวรัสออกไปเองได้

2. ผลข้างเคียงของยาปฏิชีวนะ

เมื่อเด็กมีความจำเป็นที่ต้องรับการรักษาโรคอื่นๆ ด้วยยาปฏิชีวนะเป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันนาน ยาปฏิชีวนะที่กินจึงส่งผลข้างเคียงทำให้มีการถ่ายเหลวเป็นน้ำหรือท้องเสีย การรักษาจะคล้ายกลุ่มติดเชื้อทางเดินอาหาร คือแก้ไขภาวะการขาดน้ำ โดยส่วนใหญ่อาการท้องเสียจะหยุดไปเอง แต่ถ้าบางรายท้องเสียรุนแรงจริงๆ จำเป็นต้องหยุดยาปฏิชีวนะ แล้วเปลี่ยนเป็นการรักษาด้วยยากลุ่มอื่นแทน


3. การอักเสบของทางเดินอาหารที่ไม่ใช่จากเชื้อโรค

ค่อนข้างพบบ่อยในเด็กโซนยุโรป โรคนี้เกิดจากความความผิดปกติของภูมิต้านทาน อาจจะมีภูมิต้านทานใดเกินจึงมีการอักเสบของทางเดินอาหารซึ่งแพทย์ก็ไม่ทราบ สาเหตุที่แน่ชัด คนไข้จะมีอาการท้องเสียเรื้อรัง เนื่องจากมีการอักเสบและมีแผลในกระเพาะอาหาร มีการสูญเสียเลือด ตัวซีด เพราะสูญเสียโปรตีน บวมและน้ำหนักลด การรักษาจะลดการอักเสบของทางเดินอาหาร โดยใช้ยากดภูมิต้านทานของร่างกาย ยาต้านการอักเสบ และการประคับประคองโดยโภชนาการที่เหมาะสม


การดูแลลูกเมื่อมีอาการท้องเสีย
        • ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่โดยดื่มประมาณ 2-3 ออนซ์ ต่อเมื่อลูกถ่ายเหลวหรือเป็นน้ำ 1 ครั้ง หากถ่ายเพียงเล็กน้อยหรือกะปริดกะปรอย ไม่จำเป็นต้องให้สารละลายเกลือแร่ชดเชยก็ได้
        • เพื่อป้องกันการขาดอาหาร ควรให้ลูกกินครั้งละน้อยแต่ให้บ่อยๆ เพื่อให้ลำไส้ค่อยๆ ย่อยและดูดซึมอาหารได้ทัน
        • ไม่จำเป็นต้องหยุดนมแม่
        • เด็กที่กินนมผสม หลังดื่มสารละลายเกลือแร่ 4-6 ชั่วโมงแล้วให้กินนมตามปกติ ไม่จำเป็นต้องชงนมเจือจาง แต่ควรให้กินนมในปริมาณที่น้อยลงและถี่กว่าปกติ
        • งดอาหารย่อยยาก โดยเฉพาะอาหารไขมันสูง งดน้ำผลไม้และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเพราะอาจจะทำให้ถ่ายบ่อยขึ้น
โดย Momypedia
- See more at: http://www.momypedia.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น